" ขวัญข้าว เท่าหัวเรือ ...ขวัญเกลือ เท่าหัวแพ "
เป็นพิธีกรรมที่สืบทอดกันมาจากบรรพบุรุษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันไม่ค่อยมีโอกาสได้เห็นมากนัก ชาวบ้านที่ประกอบอาชีพการทํานาเกลือจะต้องทําพิธีทําขวัญนาเกลือ หรือไหว้ศาลนาเกลือ และทำขวัญยุ้งเกลือ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวผลผลิตของทุกปี ซึ่งช่วงเวลาในการทําพิธีจะเริ่มกระทําเมื่อน้ำทะเลที่ตากไว้ในนาเกลือตกผลึกเม็ดเกลือมากขึ้น และเริ่มได้รับผลผลิตเป็นครั้งแรกจากนาเกลือก่อนรื้อนาหรือเมื่อรื้อนาครั้งแรก (การรื้อนาคือการชักลากเม็ดเกลือมากองสุมเป็นลูก ๆ คล้ายกับภูเขาก่อนเก็บเข้ายุ้งเกลือ) โดยถือเป็นหลักปฏิบัติซึ่งเชื่อว่าจะก่อให้เกิดความเป็นสิริมงคลและความมั่นคงในการดําเนินชีวิตกับการประกอบอาชีพทํานาเกลือ เป็นการสร้างขวัญกําาลังใจและขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้ช่วยปกป้องดูแลผืนนาเกลือส่งผลให้นาเกลือมีผลผลิตที่ดี ทำให้ขายเกลือได้ราคาดีและไม่มีอุปสรรค
สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวนาเกลือยึดมั่นและมักบูชาในพิธี ได้แก่ เจ้าที่เจ้าทาง และเทพยดา หรือเป็นการบูชาผีผู้พิทักษ์นาเกลือ (คล้ายกับการบูชาพระแม่ธรณีในนาข้าว) นอกจากนี้ยังเป็นการบูชาพระวายุ พระแม่คงคา และพระแม่ธรณี เพราะเทวดาดังกล่าวมีส่วนเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กับเกลือ เพราะมีความเชื่อว่าเทวดาเหล่านี้จะช่วยให้ลมที่ดี น้ำที่เค็ม พื้นดินที่ดี เป็นการบูชาเพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้การทํานาเกลือ ได้ผลผลิตตามต้องการ และประสบผลสําเร็จในการทํานาเกลือในทุกๆ ครั้ง
เครื่องเซ่นไหว้ในพิธีทำขวัญนาเกลือ ประกอบด้วย หัวหมู, เป็ด, ไก่, ผลไม้ และขนมชื่อมงคล อย่างทองหยิบ ทองหยอด ขนมถ้วยฟู และขนมต้ม เป็นต้น โดยจะนำเครื่องเซ่นไหว้มาตั้งไว้ที่แท่นบูชาหรือแท่นศาลนาเกลือ จะตั้งอยู่บริเวณพื้นที่นาเกลือ ซึ่งชาวบ้านแต่ละบ้านที่ประกอบอาชีพทํานาเกลือจะสร้างศาลนาเกลือไว้เคารพบูชาเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ตนเองและพื้นที่นาเกลือ โดยที่แท่นบูชาจะปักธงสีต่างๆ มี 2 ขนาด ขนาด 1 วา จํานวน 6 ธง สําหรับปักเสาหลักของศาล และขนาดเล็กประมาณ 30 เซนติเมตร (จํานวนธงขึ้นอยู่กับจํานวนของนาเกลือแต่ละบ้านจะปักทั้งสี่มุมนาเกลือ) และยังมีหมากพลู บุหรี่ เหล้า ดอกไม้ พวงมาลัย ธูป 9 ดอก เทียน กระดาษเงินกระดาษทอง ผ้าขาว/ผ้าแดง ใช้ประกอบในพิธีด้วย โดยการทำพิธีจะประกอบพิธีปีละ 1 ครั้ง ในช่วงประมาณเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ และมักจะประกอบพิธีในวันพฤหัสบดี เวลา 06.00-08.00 น. โดยประมาณ
บทสวดที่ใช้ในพิธี เริ่มต้นด้วยการตั้งนะโม 3 จบ และกล่าวคําอธิษฐาน “กลางวันปั้น กลางคืนเกวียน” แล้วขอพรตามที่ปรารถนา (คํากล่าวบูชาไม่มีคํากล่าวทําขวัญที่แน่นอน ส่วนใหญ่จะขอพรเพื่อให้เกิดสิริมงคลต่อตนเอง ครอบครัว และพื้นที่นาเกลือ) เช่น ขอให้การทํานาเกลือมีผลผลิตที่ดี ไม่มีอุปสรรคในการทําเกลือในทุก ๆ ครั้ง ขอให้เทวดาและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ดูแลพื้นนาไม่ให้น้ำในนารั่วไหล เป็นต้น เมื่อกล่าวคําอธิฐานขอพรเสร็จปักธูปในกระถางที่เตรียมไว้รอจนธูปหมดแล้วจึงกล่าวคําลา นําของที่ถวาย เช่น ผลไม้และขนมไปรับประทานเพื่อเป็นสิริมงคล
ความเชื่อและข้อห้ามเกี่ยวกับพิธีกรรมการทําขวัญนาเกลือ มีดังนี้
1) ห้ามกางร่มในบริเวณพื้นที่นาเกลือ เพราะการทํานาเกลือต้องอาศัยแสงแดด และสภาพภูมิอากาศที่ดีหากมีคนกางร่มเข้าไปในบริเวณนาเกลือ เชื่อกันว่าเป็นการลบหลู่ จะเกิดฝนตกและทําให้ผลผลิตเสียหาย
2) ห้ามซื้อ–ขายเกลือหลังพระอาทิตย์ตกดิน เพราะมีความเชื่อว่าเป็นกุศโลบายของคนโบราณที่กลัวว่าหากมืดค่ำแล้วถ้ายังขายเกลือจะทําให้หยิบผิดสลับกับน้ำตาลหรือผงชูรสเพราะมีลักษณะคล้ายกัน ซึ่งเกลือเป็นของมีค่าและหายากในสมัยโบราณ
Comments