top of page
ค้นหา
  • รูปภาพนักเขียนTawirat Konkruea

ตอกหนัง (ศิลปะการตอกหนังใหญ่เมืองเพชร)

อัปเดตเมื่อ 10 ก.ย. 2564



“หนังใหญ่” เป็นมหรสพที่มีมาแต่สมัยโบราณ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยได้รับการยกย่องว่า เป็นการแสดงชั้นสูง ซึ่งรวมเอาศิลปกรรมหลายแขนงเข้าไว้ด้วยกัน ซึ่งทุกขั้นตอนต้องอาศัยความประณีต อดทน เพื่อให้ได้มาซึ่งงานที่ละเอียดอ่อน หนังใหญ่เดิมเป็นการแสดงในราชสำนัก ที่เรียกว่า‘หนัง’ นั้น เพราะสิ่งที่ใช้แสดง คือ “ตัวหนัง” ซึ่งแกะสลักจากหนังวัวหรือหนังควาย ที่ต้องผ่านกรรมวิธีการฟอกหนัง การวาดรูปตัวหนัง โดยใช้ทักษะการวาดลายไทยผูกลายต่อเนื่องเกี่ยวกันไปตลอดรูปไม่ให้เส้นขาดจากกันจึงค่อยนำมาแกะหรือตอกอย่างวิจิตรบรรจง ลงสีเพื่อเพิ่มความชัดเจนและความสวยงามเมื่อยามเชิดแสดง จากนั้นผูกกับไม้ตับสำหรับให้ผู้เชิดแสดงได้เชิดด้วยท่าทางที่เข้าจังหวะกับเสียงดนตรีปี่พาทย์และบทพากษ์ บทเจรจา ถือเป็นต้นกำเนิดของศิลปะการแสดงโขน อันเป็นเอกลักษณ์ของศิลปวัฒนธรรมของไทยสืบมาจนถึงปัจจุบัน


ศิลปะการตอกหนังใหญ่เมืองเพชร เป็นอีกหนึ่งอัตลักษณ์แห่งชุมชนย่านเมืองเก่าเพชรบุรี ซึ่งชาวบ้านเล่าให้ฟังว่าหนังใหญ่นั้นเริ่มต้นมาจากหลวงพ่อฤทธิ์ เกจิชื่อดังของเมืองเพชรที่ได้เก็บรวบรวมตัวหนังใหญ่เอาไว้ที่วัดพลับพลาชัย และได้เผยแพร่ไปสู่จังหวัดราชบุรีต่อมาในภายหลัง โดยกลุ่มหนังใหญ่ของเมืองเพชรได้มีโอกาสแสดงต่อหน้าพระพักตร์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวด้วย แต่หลังจากที่ท่านสวรรคตลงก็ทำให้กลุ่มแสดงหนังใหญ่นั้นปิดตัวลงไปด้วย จนมาถึงรุ่นหลังได้ทำการรื้อฟื้นศิลปะหนังใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และศึกษาเพิ่มเติม


ภูมิปัญญาการสร้างตัวหนังของบรรพบุรุษ จะใส่ใจตั้งแต่การทำแผ่นหนังสำหรับใช้แกะหรือตอกเป็นรูปตัวหนัง สมัยก่อนการหาหนังมาใช้ได้จากการนำหนังวัวที่ตายแล้วมาผ่านกรรมวิธีการฟอกแบบโบราณ เพื่อลอกเอาขนและพังผืดออกให้หมด ให้ได้หนังเนื้อใส แผ่นเรียบไม่บิดงอ คงสภาพเป็นเวลานาน เรียกว่า “การฆ่าหนัง” หนังที่ใช้ในการทำรูปหนังมีการเลือกเฉพาะสำหรับบางรูป อาทิ หนังครู หรือหนังพระอิศวร หรือหนังพระฤาษี ในอดีตต้องเลือกเอาเฉพาะแต่หนังเสือ หรือหนังวัว ที่ตายผิดธรรมชาติ เช่น วัวที่โดนฟ้าผ่าตาย วัวที่คลอดลูกตาย เป็นต้น ถือเป็นความเชื่อเพื่อจะได้รูปหนังที่มีความศักดิ์สิทธิ์


การสร้างตัวหนังถือเป็นทักษะเชิงช่างที่ต้องอาศัยทั้งฝีมือในการวาดรูปจิตรกรรม การลงสี การแกะสลัก หรือการตอก ที่ต้องอาศัยความชำนาญในการสร้างงานบนผืนหนังขนาดใหญ่ เพื่อให้ได้มิติที่มองเห็นในระยะไกล ผ่านแสงไฟ เผื่อระยะตัวเงาที่เกิดขึ้นจนเกิดเป็นสุนทรีย์ภาพที่น่าประทับใจสอดรับไปกับอรรถรสการแสดงที่ประกอบด้วยการเชิด และเสียงดนตรีที่เร้าใจสนุกสนานน่าติดตาม



หนังสัตว์หลายชนิดที่สามารถนำมาฟอกแล้วแกะฉลุลายเป็นรูปตัวหนังได้ แต่ที่นิยมคือหนังวัวและหนังควาย คนไทยนิยมใช้หนังวัวมากกว่าหนังชนิดอื่น ๆ เนื่องจากมีความบางและโปร่งแสง และฉลุลายได้ละเอียดกว่า ส่วนหนังแพะหรือหนังแกะ มีขนาดย่อมลงมามักใช้แกะตัวหนังตะลุง หรือแกะเป็นตัวหนังที่ระลึก โดยหนังจะต้องมีความหนา 1.5 มิลลิเมตร สมัยโบราณมักหาหนังสดจากวัวที่ตายแล้วมาฟอกเองด้วยกรรมวิธีแบบธรรมชาติ (แบบโบราณ) ซึ่งต้องใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะได้หนังที่แห้งสนิทสำหรับแกะสลักหนังใหญ่ ปัจจุบันช่างจึงเปลี่ยนมาใช้การซื้อหนังสำเร็จจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกหนัง (ฟอกด้วยสารเคมี) หนังประเภทนี้เรียกว่า “หนังกาวตากแห้ง” มีทั้งสีน้ำตาลและสีขาว แบ่งเป็น 2 เกรด คือ

1. หนังผิวหรือหนังเกรดเอ เหมาะสำหรับใช้แกะหนังใหญ่ ทำหนังกลอง มักส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่นและประเทศบราซิล

2. หนังท้องหรือหนังเกรดบี ใช้มัดเป็นก้อนให้สุนัขกัดเล่น


อย่างไรก็ตามหากเปรียบเทียบระหว่างหนังที่ผ่านการฟอกแบบโบราณด้วยวัสดุธรรมชาติ กับหนังที่ฟอกด้วยสารเคมี พบว่าหนังที่ฟอกแบบโบราณจะมีอายุการใช้งานนานกว่า สีจะซีดจางช้ากว่าหนังที่ฟอกด้วยสารเคมี เนื่องจากขณะที่ทำการฟอก สารเคมีจะถูกดูดซึมและฝังตัวลงบนผืนหนัง ซึ่งจะทำให้หนังมีอายุ

การใช้งานสั้นและทำให้สีที่เขียนระบายซีดจางเร็ว


การฟอกหนังแบบโบราณจะนำหนังสดมาหมักกับน้ำปูนขาว แล้วนำขึ้นมาใส่ครกตำข้าว ตำจนนิ่ม จากนั้นนำไปแช่ในน้ำลูกดอกลำโพง 3-5 วัน เพื่อฟอกเอาพังผืดและไขมันออก นำกลับขึ้นมาตำอีกครั้ง จึงนำไปขึงให้ตึง ผึ่งแดดให้แห้ง เมื่อหนังเริ่มแห้งสนิททำความสะอาดอีกครั้งโดยใช้กะลามะพร้าว มีด สิ่ว เปลือกหอยกาบ ขูดพังผืดและขนออกจนกระทั่งหนังทั้งผืนบางสม่ำเสมอกัน การฟอกหนังแบบโบราณ

เป็นกรรมวิธีที่เรียกว่า ฆ่าหนังให้ตาย คือหนังจะเรียบ ไม่หงิกงอเหี่ยวย่น คงสภาพเรียบแบนเป็นเวลานับร้อยปี ในบางแห่งไม่มีการหมักหนังก่อน เมื่อได้หนังสดๆ มาคลุกกับขี้เถ้าแล้วนำมาขึงในกรอบไม้โดยใช้ตะปูตอกยึดให้ตึงตลอดทั้งผืน ใช้มีดชำแหละพังผืดที่ติดมากับหนังออกให้หมด นำไปตากแดดจนแห้ง จึงถอดออกจากกรอบ ใช้มีดขูดตกแต่งหนังทั้งสองด้านโดยขูดเอาขน พังผืด และไขมันออก

แล้วนำไปฟอก


การฟอกหนังแบบปัจจุบันนิยมใช้น้ำส้มสายชูฟอกหนัง โดยใช้น้ำส้มสายชู 1 ลิตร ผสมน้ำ 20 ลิตร หมักหนังที่ขูดตกแต่งขนกับไขมันออกแล้วในอ่างหรือโอ่งที่ผสมน้ำส้มสายชู แช่ทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง จึงนำหนังไปล้างให้สะอาดแล้วผึ่งลมไว้จนแห้งสนิท



การวาดลวดลาย ใช้ทักษะทางด้านจิตรกรรมไทยในการวาดรูปตัวละคร ส่วนใหญ่เป็นรูปตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่นิยมเล่น มีเทคนิคในการวารผูกลายคือ ต้องวาดลายจิตรกรรมให้มีขนาดใหญ่ขึ้นเผื่อการตอกซึ่งจะกินเส้นลายเข้าไปอีก การผูกลายใช้การวาดให้ลายเกาะเกี่ยวกันไม่ให้หลุดขาดจากกัน เรียกว่า “เอ็นตัวหนัง” เป็นจุดสำคัญที่การตอกหนังในขั้นตอนต่อไป ต้องตอกเชื่อมให้เส้นลายตัวละครทั้งตัว ไม่ขาดออกจากกันเช่นกัน ซึ่งการออกแบบลายหนังใหญ่แต่เดิมนั้นช่างโบราณที่ชำนาญการผูกลายจะใช้เหล็กที่เรียกว่า “เหล็กจาร” เขียนลายลงบนผืนหนัง รอยเหล็กแหลมที่เขียนลงบนผืนหนังสามารถลบออกได้ง่ายโดยใช้น้ำเช็ดรอยที่เขียนออก แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้การออกแบบลงบนกระดาษก่อน เมื่อแก้ไขจนลงตัวจึงนำไปย่อขยายตามต้องการ แล้วนำแบบไปวางทาบลงบนผืนหนังเพื่อนำไปตอกฉลุลายต่อไป


การแกะลายและการตอกลาย เพื่อให้แสงผ่าน เกิดเป็นรายละเอียดของตัวหนังเพิ่มความงดงามอ่อนช้อย ส่วนที่เป็นลวดลายและเส้นต่างๆ ช่างแกะสลักจะใช้ “ตุ๊ดตู่หรือมุก” ตอกออกเรียกว่ากัดมุก และใช้มีดแกะสลักในส่วนที่ต้องการให้เกิดช่องไฟสำหรับช่องลายขนาดใหญ่ เช่น ใบหน้า ดวงตา ปาก ถ้าลวดลายกลมหรือไข่ปลา ช่างจะใช้มุกตอกตามลวดลาย ส่วนลายในส่วนที่ใหญ่ หรือลักษณะเป็นเหลี่ยม ๆ จะใช้มีดแกะสลัก มุกมีหลายขนาดเรียกว่า มุกใหญ่ มุกกลาง มุกยอด การแกะในบางมุมช่องไฟของลวดลายต้องใช้สิ่วขนาดต่างๆ เพื่อให้แสงไฟส่องเห็นเป็นรูปทรงงดงาม ในส่วนที่เป็นลายโปร่งจะเป็นสีขาว


การฉลุลายตัวหนัง จะเริ่มจากลวดลายที่มีขนาดใหญ่ก่อน เพื่อสร้างเค้าโครงของตัวหนัง ในสมัยโบราณใช้สิ่วเป็นเครื่องมือหลัก เช่น สิ่วโค้ง สิ่วเล็ก สิ่วตรง สิ่ววี ตัวหนังที่ช่างใช้สิ่วตอกแกะลายจะออกแนวพื้นบ้านอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ปัจจุบันช่างพัฒนามาเป็นการใช้มีดที่ประดิษฐ์ขึ้นเฉพาะให้มีขนาดเหมาะมือ เมื่อฉลุลายจะจับโคนด้ามมีดต้องอยู่อุ้งมือ ปลายมีดยาวเท่าปลายนิ้วชี้ ใช้ทั่งไม้หรือเขียงจากไม้

เนื้อนิ่มรองไว้ด้านล่าง เช่น ไม้นุ่น ไม้ตีนเป็ด เพื่อให้ปลายมีดกดทะลุลงในเขียง ลายตัวหนังจึงสวยคมงดงาม แต่สำหรับเขียงที่ใช้ตอกลาย ช่างสมัยโบราณจะเลือกใช้ไม้เนื้อแข็งเพื่อถนอมอุปกรณ์ โดยจะเป็นการตอกให้ขาดในครั้งเดียวและตอกลายต่อเนื่องกันที่เรียกว่า “ไข่ปลา”


มุกหรือตุ๊ดตู่ ตีขึ้นจากเหล็กทั่วไป ตรงปลายชุบซิงก์เพื่อเพิ่มความแข็งและทนทาน เพราะมุกไม่สามารถลับคมได้เหมือนสิ่วหรือมีด สมัยโบราณใช้สว่านเจาะปลายเหล็กแล้วชุบด้วยน้ำขี้เถ้าไม้รวกให้เนื้อเหล็กแกร่งขึ้น


ค้อน ที่ใช้สำหรับตอกต้องทำจากเนื้อแข็ง เช่น ไม้ลูกหยี ไม้แดง ไม้เต็ง ขนาดตามความถนัดของช่าง เดิมช่างใช้ค้อนเหล็ก แต่พบปัญหาคือเมื่อใช้ไปไปนานเข้าจะทำให้ส่วนด้ามของมุกบานออก ตัวค้อนจะเป็นหลุม ช่างต้องเจียรค้อนและปลายมุกอยู่เสมอ ดังนั้นจึงเปลี่ยนมาใช้ค้อนไม้แทนเพื่อยืดอายุการใช้งานของมุกและค้อน



สำหรับภูมิปัญญาของการลงสีในอดีตนั้น มีสีให้เลือกใช้เพียงไม่กี่สี สีที่ใช้มากที่สุดคือสีดำ จะทำให้เกิดแสงเงาที่คมชัด ส่วนสีเขียวกับสีน้ำตาลแดง เป็นสีระยะกลางเมื่อลงบนตัวหนัง จะช่วยให้ดูสบายตามากยิ่งขึ้น หนังใหญ่บางตัวใช้แผ่นทองเปลวติด ซึ่งจะทำให้ตัวหนังดูเด่นและสง่างาม การลงสีบนตัวหนังใหญ่จะลงทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ลงสีอ่อนก่อนตามด้วยลงสีดำทับ หนังที่ใช้แสดงกลางคืนใช้

โทนสีดำและสีน้ำตาลแดงเป็นหลัก เน้นที่หน้าตัวภาพ และขอบตัวหนัง ส่วนหนังที่ใช้แสดงกลางวัน แสงเข้าจากรอบด้าน ช่างจึงลงสีสันให้สดใส เช่น สีเขียว สีเหลือง สีฟ้า เป็นต้น


"สีดำ" ได้จากการเขม่าดินหม้อ คือ ก้นหม้อดินที่ในอดีตตั้งไฟหุงต้มด้วยเตาถ่าน เมื่อก้นหม้อดำ ขูดนำเขม่าสีดำนั้นออกมาใช้ทำสี

"สีน้ำตาลแดง" ได้จากแก่นไม้ฝางต้ม แต่กรรมวิธีค่อนข้างยุ่งยาก จึงเปลี่ยนมาใช้หมากแห้งหมักกับเหล้าขาวแทน

"สีเขียวตังแช" เป็นสีโบราณซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ช่างเขียนภาพจิตรกรรมฝาผนัง ได้จากการนำทองเหลือง ทองแดง และสำริด ไปแช่ในน้ำที่ผสมกรดเกลือเกิดปฏิกิริยาทางเคมี ทำให้มีสนิมเขียวเกาะที่โลหะซึ่งใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป ช่างจะขูดสนิมออกแล้วนำมาร่อนด้วยแร่ง (เครื่องมือในการร่อนให้

ละเอียด) นำไปล้างกรดเกลือออกด้วยน้ำเปล่า แล้วนำไปผสมกับยางมะขวิดหรือยางกระถินอินเดีย ได้สีเขียวตังแช ปัจจุบันเปลี่ยนมาใช้สีเขียวผสมอาหารผสมกับเหล้าขาวแทน

ดู 41 ครั้ง0 ความคิดเห็น
bottom of page