top of page
ค้นหา

สืบสานตำนานเกษตร (ประเพณีดำนา)

รูปภาพนักเขียน: Tawirat KonkrueaTawirat Konkruea

การปลูกข้าวของประเทศไทย

          ประเทศไทยมีพื้นที่การปลูกข้าวประมาณ 64 ล้านไร่ ซึ่งในแต่ละภาคก็จะพื้นที่การปลูกข้าวที่ไม่เท่ากัน โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่การปลูกข้าวมากที่สุด รองลงมาได้แก่ ภาคกลาง ภาคเหนือและภาคใต้ ตามลำดับ ในปัจจุบันมีการแบ่งวิธีการปลูกข้าวอยู่ 4 วิธี คือ การปลูกข้าวนาดำ การปลูกข้าวนาหว่าน การปลูกข้าวนาไร่ และการปลูกข้าวนาขั้นบันได ซึ่งการปลูกข้าวในแต่ละวิธีก็จะขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่นั้นๆ เช่น ในพื้นที่ราบลุ่มก็จะมีการปลูกข้าวแบบข้าวนาหว่านหรือข้าวนาดำ ส่วนในพื้นที่สูง หรือบนดอยก็จะปลูกข้าวแบบข้าวไร่หรือข้าวนาขั้นบันได เป็นต้น

          การปลูกข้าวในปัจจุบันมีการใช้แรงงานคนน้อยเนื่องจากแรงงานในภาคเกษตรลดลงมีไม่เพียงพอต่อความต้องการและมีค่าจ้างแรงงานสูง รวมทั้งใช้เวลาในการผลิตข้าวมาก  ทำให้ไม่ทันต่อรอบการทำนาในครั้งต่อไป ดังนั้นในปัจจุบันจึงมีการนำเครื่องจักรกลเกษตรในรูปแบบต่างๆ เข้ามามีบทบาทในการทดแทนแรงงานคนในเกือบทุกขั้นตอนของการผลิตข้าว  

การปลูกข้าวนาดำ

การปลูกข้าวนาดำ หมายถึง การปลูกข้าวนาสวนในสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำขัง โดยใช้ต้นกล้าข้าวปักดำลงไปในดินแปลงนา ซึ่งจะมีขั้นตอนของการปลูกข้าวแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะต้นกล้า และระยะปักดำ


การปลูกข้าวนาหว่าน

      เป็นการปลูกข้าวนาสวนในสภาพพื้นที่ลุ่มน้ำขัง โดยใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวหว่านในพื้นที่แปลงนา จะมีอยู่ 2 แบบ คือ การหว่านข้าวนาน้ำตม และการหว่านข้าวนาแห้ง ขึ้นอยู่กับลักษณะของพื้นที่

  • การหว่านน้ำตม

       เป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวในพื้นที่ที่มีน้ำหรือในเขตชลประทาน ซึ่งจะต้องมีการเตรียมพื้นที่นาให้เป็นตมก่อนที่จะทำการหว่านเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เพาะให้งอกเล็กน้อยลงไป

  • การหว่านข้าวแห้ง

      หรือเรียกว่า หว่านสำรวย เป็นการหว่านข้าวในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำหรือหว่านเพื่อรอฝนตก ซึ่งจะต้องมีการเตรียมพื้นที่ในลักษณะการไถพลิกหน้าดินก่อนรอบแรกเพื่อทำการตากหน้าดิน จากนั้นจึงใช้พรวนจานอีกครั้งเพื่อทำการย่อยดินให้ละเอียดมากขึ้น แล้วจึงค่อยทำการหว่านข้าวหรือทำพร้อมกับการพรวนดินรอบสองก็ได้


การปลูกข้าวไร่

     หมายถึง การปลูกข้าวในสภาพที่ไม่มีน้ำขังและจะต้องใช้น้ำฝนเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่สูง เชิงเขา ที่ดอนหรือบนดอยสูง ซึ่งการปลูกข้าวจะใช้วิธีการหยอดเป็นหลุมหรือการโรยเป็นแถว


การปลูกข้าวแบบนาขั้นบันได

     เป็นการปลูกข้าวในพื้นที่สูงหรือบนดอย โดยมีการปรับพื้นที่ตามไหล่เขาให้เป็นขั้นบันไดและมีคันนาที่ความกว้างเพียงพอที่จะสามารถขังน้ำได้ วิธีการปลูกข้าวส่วนใหญ่จะใช้วิธีการปลูกแบบหยอดข้าวแห้งเช่นเดียวกับข้าวไร่ แบบปักดำเหมือนกับทางพื้นราบ และมีคลองขนาดเล็กหรือท่อส่งน้ำเข้าแปลงนาได้ ซึ่งจะมีขั้นตอนของการปลูกข้าวแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะต้นกล้า และระยะปักดำ



การลงแขกดำนา

ประเพณีลงแขกดำนา เป็นประเพณีไทยอย่างหนึ่งของชาวนาไทย ซึ่งนับวันจะหาดูได้ยากในสภาพปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความมีน้ำใจ มีการช่วยเหลือซึ่่งกันและกัน สร้างความสมัครสมานสามัคคีกันในหมู่บ้าน นอกจากนี้ทำให้เกิดวัฒนธรรมและการขับร้องเพลงอันเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของผู้ที่ประกอบอาชีพทำนา ประเพณีลงแขกดำนา เป็นประเพณีที่เจ้าของนาจะบอกเพื่อนบ้านให้รู้ว่าจะดำนาเมื่อใด เจ้าของนาจะต้องจัดเตรียมอาหาร คาวหวาน และน้ำดื่มไว้รองรับด้วย และในการขณะดำนาก็จะมีการละเล่นร้องเพลงเป็นที่สนุกสนานและเพลิดเพลินเพื่อคลายความเหน็ดเหนื่อย


"ลงแขก” คือ การบอกกล่าวขอแรงบรรดาญาติสนิทมิตรสหายให้มาช่วยกันทำงาน ซึ่งงานที่จะลงแขกนั้น อาจจะเป็นงานส่วนรวมหรืองานส่วนตัวก็ได้ ส่วนมากมักจะเป็นงานใหญ่สุดกำลังคนในครอบครัวจะทำได้ หรืออาจจะเป็นงานหนักแต่จำเป็นต้องทำให้เสร็จภายในวันเดียว จึงต้องบอกกล่าวให้ญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยเหลือเพื่อให้งานเสร็จสิ้นไป เนื่องจากชีวิตของเกษตรกรไทยเกี่ยวพันกับอาชีพด้านเกษตรกรรม ไม่ว่าจะเป็น การทำนา การทำไร่ ทำสวน ซึ่งมีความสัมพันธ์กับระยะเวลาของฟ้าและฝน จะต้องเร่งรีบในการเพาะปลูก ปักดำ เก็บเกี่ยว ในครอบครัวใดมีแรงงานมากก็จะทำได้เร็วและทันเวลา แต่ครอบครัวที่มีคนน้อยก็จะทำสำเร็จได้ยาก จึงก่อให้เกิดประเพณีลงแขก เพื่อช่วยเหลือกันด้านแรงงาน ไม่มีค่าจ้างตอบแทนมีเพียงน้ำใจเลี้ยงอาหารข้าวปลาตามแต่จะหาได้ในท้องถิ่น หมุนเวียนกันไปจากครอบครัวหนึ่งสู่อีกครอบครัวหนึ่ง ทำให้กิจการงานสำเร็จลุล่วงมีอาหารเพียงพอไม่ขาดแคลน ซึ่งงานที่มักลงแขก เช่น การลงแขกทำนา เนื่องด้วยการทำนาเป็นงานหนักและในรอบปีหนึ่งต้องใช้แรงงานในการทำนามากถึง 4 วาระด้วยกัน คือ การดำนา การเกี่ยวข้าว การตีข้าว (นวดข้าว) และเอาข้าวขึ้นเล้า ดังนั้นการทำงานทุกๆ ระยะ ชาวนาส่วนมากจะใช้วิธีการลงแขก อาศัยแรงจากญาติพี่น้องเพื่อนบ้านมาช่วยกัน เมื่อลงแขกในนาตนเสร็จก็เปลี่ยนไปลงแขกนาของคนอื่นๆ ต่อไปเป็นการตอบแทน ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจที่มีให้กันและกัน




ดู 58 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


  • Facebook
  • Twitter
  • LinkedIn

©2020 by เกษตรวิถีไทย. Proudly created with Wix.com

bottom of page