top of page
ค้นหา
รูปภาพนักเขียนTawirat Konkruea

ตาลโตนดเมืองเพชร


ต้นตาลหรือตาลโตนดเป็นพันธุ์ไม้ตระกูลปาล์มที่เก่าแก่ชนิดหนึ่งของโลก มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนของแอฟริกา และกระจายพันธุ์มาถึงอินเดียตอนใต้ ศรีลังกา พม่า ไทย กัมพูชา และอินโดนีเซีย จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่าเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-16 ได้มีการประทับรูปคนปีนต้นตาล แสดงว่าสมัยนั้นได้รู้จักวิธีใช้ประโยชน์จากตาลแล้ว


ต้นตาลมี่ส่วนเกี่ยวพันกับพระพุทธศาสนา จากจารึกโบราณระบุว่า ในพรรษาที่ 2 หลังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้ว ได้เสด็จไปประทับที่ลัฎฐิวัน / ลัฎฐตาล ซึ่งเป็นสวนตาลที่มีอายุน้อยเพื่อโปรดให้พระเจ้าพิมพิสารและข้าราชบริพารได้เข้าเฝ้า พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายเวฬุวัน และโปรดให้ตั้งชื่อวัดตาลหนุ่มเวฬุวนาราม (สุรี  ภูมิภมร, 2548) นอกจากนี้ตาลถือว่าเป็นไม่มงคลชนิดหนึ่ง เนื่องจากตาลปัตรสำหรับพระสงฆ์ใช้ในการสวดพิธีกรรม แต่เดิมก็ใช้ใบตาลทำเป็นพัดด้ามยาว ปัจจุบันแม้จะเปลี่ยนมาใช้ผ้าแทน แต่ก็ยังเรียกตาลปัตรเช่นเดิม *(ตาลปัตร ตั้งชื่อมาจากตาลบวกกับอาการพัดหรือปัดซึ่งกลายเป็น ตาลปัตร)


สำหรับประเทศไทย ต้นตาลมีปรากฏความในหลักศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงมหาราชแห่งกรุงสุโขทัย ที่กล่าวถึงดงตาล อันเป็นสถานที่สำหรับประชาชนฟังธรรมในวันพระจึงสรุปได้ว่า ต้นตาลน่าจะเป็นพรรณพืชที่ปลูกในประเทศไทยนานกว่า1,000 ปีมาแล้ว โดยส่วนใหญ่พบทางตะวันตก ซึ่งมีสภาพภูมินิเวศที่ตาลเติบโตได้ดี คือมีแสงแดดจัดและความชื้นต่ำ ดังนั้นตาลจึงพบมากที่สุดในภาคตะวันตก ได้แก่เพชรบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี ภาคกลางพบมากที่สุดที่ สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี ภาคใต้พบที่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช ตาลจึงมีชื่อเรียกแตกต่างกันไปบ้าง เช่น ตาลนา ตะโหนด ภาคเหนือเรียก ปลีตาล ภาคใต้เรียก โนด กัมพูชาเรียก ตะนอย ชาวฮินดูเรียก ตาละ เป็นต้น



ตาลโตนดเป็นพันธุ์ไม้ที่มีมากที่สุดในเพชรบุรี จนเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดปรากฏในตราและธงประจำจังหวัด หลักฐานจากนิราศเมืองเพชรของสุนทรภู่ ที่แต่งไว้ ในปี พ.ศ. 2374 กล่าวไว้ว่า “ทั่วประเทศเขตแคว้งแดนพริบพรี เหมือนจะชี้ไปไม่พ้นแต่ต้นตาล” ดังนั้นจึงปรากฏชื่อหมู่บ้านที่สัมพันธ์กับตาลโตนดจำนวนมาก อาทิ โตนดหลาย โตนดหลวง ตาลกง ตาลเดี่ยว ตาลดอน โคกโตนด และถนนตาล เป็นต้น ต้นตาลพบมากที่สุดในเขตอำเภอเมืองเพชรบุรี รองลงไปคือ บ้านลาด ชำอำ เขาย้อย ท่ายาง หนองหญ้าปล้อง ส่วนอำเภอแก่งกระจานมีหลักฐานยืนยันว่าพบต้นตาลป่าในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานบริเวณน้ำตกทอทิพย์


ปริมาณต้นตาลของจังหวัดเพชรบุรีเท่าที่ปรากฏหลักฐานทางสถิติสรุปได้ว่า ในปี พ.ศ. 2541 

เพชรบุรีมีต้นตาลราว 1,444,954 ต้น เป็นตาลตัวผู้ 833,394 ต้น ตาลตัวเมีย 611,560 ต้น และในปี พ.ศ. 2548 เพชรบุรีเหลือต้นตาลประมาณ 440,535 ต้น (วีระชัย ณ นคร, 2549) อย่างไรก็ดี ตาลโตนดยังคงเป็นพืชประจำถิ่นที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตของชาวเพชรบุรีอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตจวบจนปัจจุบัน การที่เมืองเพชรมีพระราชวังบนพระนครคีรีอันสวยงามและทรงคุณค่าอันเป็นมรดกทางศิลปะ และวัฒนธรรม ซึ่งเกิดจากพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้ใช้จ่ายเงินรายได้ที่เกิดจากภาษีน้ำตาลเมืองเพชรเพียงอย่างเดียว ดังนั้นพระนครคีรีจึงเรียกได้ว่าเกิดขึ้นได้ด้วยน้ำตาลเมืองเพชรบุรีโดยแท้จริง



ความสำคัญด้านเศรษฐกิจ

โตนดเป็นพืชสารพัดประโยชน์ สามารถให้ผลผลิตในลักษณะต่าง ๆ ตลอดปี นอกจากได้ผลผลิตสม่ำเสมอและแน่นอนก่อให้เกิดอาชีพหลากหลายในชุมชน ทั้งนี้เป็นอาชีพหลักและอาชีพเสริม ได้แก่

  • อาชีพทำน้ำตาลโตนดที่เรียกกันว่า น้ำตาลปึก สร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำแก่ชาวเพชรบุรี

  • อาชีพอุตสาหกรรมในครัวเรือนการทำขนมหวานต่าง ๆ 

  • การเพาะเมล็ดเพื่อให้ได้จาวตาล สำหรับขายตรงหรือทำเป็นขนม

  • อาชีพขายน้ำตาล

         กล่าวได้ว่า ชาวเพชรบุรีสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ก็ด้วยรายได้หลักจากผลผลิตต้นตาลที่มีอยู่ในท้องถิ่นเป็นจำนวนไม่น้อย


ความสำคัญด้านสังคม

การที่ชุมชนมีอาชีพหลากหลาย รวมทั้งจากตาลโตนดในหลายรูปแบบ มีการติดต่อค้าขายกันทำให้มีการแบ่งปันและแลกเปลี่ยนทรัพยากร ทำให้เกษตรกรสามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องย้ายครอบครัวไปต่างถิ่น มีโอกาสศึกษาหาความรู้และพัฒนาตนเอง มีส่วนร่วมในการพัฒนาท้องถิ่น มีความภูมิใจในตนเองซึ่งช่วยลดปัญหาทางสังคม

       

ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม

ต้นตาลโตนดช่วยสร้างความสมดุลในระบบนิเวศ เพราะเป็นที่อยู่อาศัยของนกฮูก นกเค้าแมว ซึ่งช่วยกำจัดหนูศัตรูของข้าวและพืชอื่น ๆ ทำให้ช่วยลดการใช้ยาปราบศัตรูพืช นอกจากนี้ ระบบรากของต้นตาลโตนดไม่แก่งแย่งและรบกวนกับรากของพืชชนิดอื่น เช่นข้าว เพราะรากต้นตาลโตนดหยั่งลึกลงไปในดิน ไม่แผ่ไปตามผิวดิน การที่รากหยั่งลึกลงไปในดินเท่ากับเป็นการหมุนเวียนธาตุอาหารในดิน นอกจากช่วยยึดดินและสร้างความแข็งให้ดินบริเวณคันนาได้เป็นอย่างดี



ความสำคัญด้านภูมิปัญญาท้องถิ่น

องค์ความรู้เกี่ยวกับตาลโตนดที่สำคัญ สรุปได้เป็น 6 ประเภท ได้แก่

  • ภูมิปัญญาเกษตรกรรม (การปลูกตาล การขึ้นตาล/รองตาล การเคี่ยวตาล การทำปุ๋ยจากตาล)

  • ภูมิปัญญาอาหาร (การพรอมตาล/เฉาะตาล การทำอาหารคาวและอาหารหวานจากตาล การทำน้ำตาลเมา/กระแช่)

  • ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย (ยาสมุนไพรจากตาลและการนวดแผนไทย) 

  • ภูมิปัญญาที่อยู่อาศัยและเครื่องเรือนจากตาล (ไม้ตาลและใบตาล)

  • ภูมิปัญญาหัตถกรรมจากตาล (การสานใบตาล เสี้ยนตาล และงานประดิษฐ์จากเม็ดตาล)

  • ภูมิปัญญาด้านการละเล่นพื้นบ้านจากตาล (มวยใบตาล ล้อโตนด กาคาบไข่)



ดู 48 ครั้ง0 ความคิดเห็น

Comments


bottom of page